รู้ทัน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ - Interpharma Group

รู้ทัน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี โดยเฉพาะสาวๆ ออฟฟิศที่นั่งติดอยู่กับที่โต๊ะทำงาน แบบไม่อยากขยับเขยื้อนตัวลุกไปไหน กลั้นปัสสาวะบ่อย  สาเหตุที่พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมาจากสรีระทางร่างกายผู้หญิงซึ่งมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย ดังนั้นเชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ท่อปัสสาวะของผู้หญิงยังเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับช่องคลอด และทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งจากช่องคลอด และจากทวารหนักโดยเฉพาะเจ้าเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายเข้าไปอีก แต่ในบางรายอาจเกิดจากระบบโครงสร้างของระบบปัสสาวะผิดปกติ หรือมีปัญหาเรื่องนิ่ว

สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

สาเหตุหลักที่พบมากที่สุด คือ การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะมาจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล หรือ ที่คุ้นหูคือ อีโคไล (Escherichia coli : E. coli), เคล็บซิลลา (Klebsiella), สูโดโมแนส (Pseudomonas), เอนเทอโรแบกเตอร์(Enterobacter) ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะมีอยู่มาก ที่บริเวณรอบทวารหนัก ซึ่ง 75-95% โดยประมาณเกิดจากเชื้ออีโคไล โดยสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกวิธี การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ฯ นอกจากนี้ อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ หรือสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย แต่มักเกิดได้น้อยมาก เช่น เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง การใช้ยา การใช้ผลิตภัณฑ์บริเวณจุดซ่อนเร้น การฉายรังสีบริเวณกล้ามเนื้อเชิงกราน หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  1. การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อโรคในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี
  2. การดื่มน้ำน้อย
  3. การดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้หญิง หากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี เช่น เช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังมาด้านหน้า  ก็จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อจากช่องคลอดและทวารหนักได้
  4. การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฎิชีวนะ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป จึงเกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น
  5. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  6. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
  7. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากควบคุมโรคได้ไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว
  8. ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน
  9. การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • มีอาการขัดเบา คือ ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย(ปัสสาวะทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง) มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุด
  • รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยหรือหัวหน่าว ปวดแสบ ขัด ขณะปัสสาวะโดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
  • ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ ในรายที่เป็นมากอาจปัสสาวะมีเลือดปน มักไม่มีไข้(ยกเว้นถ้ามีกรวยไตอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะสีขุ่น และมีอาการปวดเอวร่วมด้วย) ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะ รดที่นอน และอาจมีไข้เบื่ออาหาร อาเจียนร่วมด้วย
  • บางครั้งอาจมีสารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย
  • บางอาการของการติดเชื้อเฉียบพลัน อาจมีนิ่วปนออกมาในปัสสาวะ เมื่อเกิดร่วมกับนิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

โรคอะไรบ้างที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ)
  • โรคประสาทกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานอย่างปกติ
  • โรคกระเพาะปัสสาวะผิดปกติแต่กำเนิดแบบเรื้อรัง
  • โรคกระเพาะปัสสาวะหย่อน
  • โรคมดลูกและกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานหย่อนยาน
  • โรคกระเพาะปัสสาวะหรือหูรูดกระเพาะปัสสาวะเสื่อม
  • โรคกระเพาะปัสสาวะไวเกินปกติ
  • โรคเยื่อบุช่องคลอดซูบแห้งในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • โรคมะเร็งในทางเดินปัสสาวะ

ในผู้สูงอายุชายต้องคำนึงถึงโรคสำคัญของต่อมลูกหมาก 3 โรค คือ ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ และมะเร็งต่อมลูกหมาก

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  1. ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ ประมาณ 6-8 แก้ว ต่อวัน (เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) ซึ่งการดื่มน้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออกและลดการปวดแสบปวดร้อน เวลาปัสสาวะได้
  2. ควรถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด ไม่กลั้นปัสสาวะ
  3. หลีกเลี่ยงสารอาหารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ใส่น้ำตาล
  4. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่ควรนั่งแช่อยู่กับที่เป็นเวลานานๆ
  5. การทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศหรือภายหลังการขับถ่าย(ในผู้หญิง) ต้องทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะ
  6. ในผู้หญิงไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าอสุจิหรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก เพราะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  7. ไม่ควรใช้สเปรย์หรือยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศเพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด  ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ
  8. ควรอาบน้ำจากฝักบัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่าง เพราะอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  9. ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และลดโอกาสการติดเชื้อรุนแรง
  10. ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ได้ยาที่ไม่ตรงกับชนิดของโรค หรือขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาไม่ถูกต้อง จึงอาจส่งผลให้โรคไม่หาย และอาจกลายเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังจากเชื้อดื้อยาได้

แครนเบอร์รี่ กับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

แครนเบอร์รี่ คือ ผลไม้ผลสีแดงสดในตระกูลเบอร์รี่ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vaccinium macrocarpon ถือกำเนิดขึ้นในแถบทางเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกาและทางตอนใต้ของประเทศแคนนาดาโดยจะมีมากกว่าแครนเบอร์รี่ที่เกิดตามธรรมชาติในทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วทวีปยุโรป จัดเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีการนำมาใช้ทั้งในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection; UTI)  แครนเบอร์รี่มีสารอาหารจำนวนมากและได้รับการวิจัยมาเป็นระยะเวลายาวนาน ผลไม้ชนิดนี้ มีความน่าสนใจในเรื่องของประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อของระบบขับปัสสาวะ สารแอนโธไซยานินส์ (proanthocyanidin หรือที่เรียกว่า “PACs”) ในแครนเบอร์รี่จะช่วยยับยั้งการยึดเกาะตัวของเชื้ออีโคไลได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อแบคทีเรียไม่สามารถจับกับผนังเซลล์ในกระเพาะปัสสาวะได้ ก็ไม่สามารถแพร่เข้ามาในเซลล์ได้

โดยมีผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรองรับ ระบุว่า การดื่มน้ำแครนเบอร์รีวันละ 30 มล. จะช่วยลดจำนวนของแบคทีเรียในปัสสาวะลง และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะได้ดี เพราะผลไม้ชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงช่วยรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อในท่อปัสสาวะ ขจัดกลิ่นปัสสาวะได้ดี