6 ประเภทอาหารที่ควรเลี่ยง ลดเสี่ยง “มะเร็งลำไส้”

“มะเร็งลำไส้” หนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมาแล้วนับไม่ถ้วน โดยในแต่ละปีนั้นมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยคน ถือเป็นหนึ่งในชนิดของมะเร็งที่คนไทยเป็นมากที่สุดโรคหนึ่ง โดยสาเหตุที่มะเร็งขึ้นนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ “อาหาร” เนื่องจากลำไส้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร และส่วนมากมะเร็งลำไส้นั้นมักจะเกิดบริเวณลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นจุดพักสุดท้ายของอุจจาระ ก่อนที่ร่างกายจะขับถ่ายออกไป จึงมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งในบริเวณนี้ได้มากกว่าลำไส้เล็กนั่นเอง
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มะเร็งลำไส้ใหญ่เข้ามาทักทายในชีวิตของเรา โดย Interpharma ได้รวบรวม 6 ประเภทอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มาฝากเพื่อนๆ กันครับ

 

1) อาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่ว่าเนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อปลา (โดยเฉพาะปลาน้ำจืดดิบ) ที่ไม่ผ่านกรรมวิธีการปรุงให้สุก เพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้แล้ว ยังแฝงด้วยโรคที่เกิดจากพยาธิอีกด้วย รวมถึงอาหารที่มีเชื้อรา เช่น ถั่วลิสงบด พริกแห้ง กระเทียม

 

2) อาหารหมักดองต่างๆ ในอาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า ปลาส้ม แหนม หมูส้ม หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ผ่านกระบวนการหมักโดยมีดินประสิวเป็นส่วนประกอบ เช่น กุนเชียง แฮม เนื้อเค็ม ไส้กรอก หากอดใจไม่ไหว อยากกินจริงๆ ก็ควรทำให้สุกเสียก่อน เพื่อกำจัดสารไนโตรซามีนที่อยู่ในอาหารเหล่านั้นออกไป

 

3) อาหารหรือขนมที่มีสีสันฉูดฉาด มีสีสันสดใสน่ารับประทาน พึงระวังไว้ให้ดี เพราะอาหารหรือขนมเหล่านี้อาจไม่ได้ใช้สีผสมอาหารในการปรุงแต่ง แต่อาจเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งประกอบไปด้วยสารพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครเมียม, ตะกั่ว, ปรอท, สารหนู เจือปนอยู่ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งหากเกิดการสะสมภายในร่างกาย

 

4) อาหารที่มีความเค็มจัด แม้จะยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่มีรสเค็มจัดกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ก็มีหลายทฤษฎีที่สนับสนุนถึงแนวคิดนี้ โดยผู้ใหญ่ควรจะรับประทานเกลือวันละไม่เกิน 6 กรัม ส่วนเด็กวันละไม่เกิน 3 กรัม ต่อพลังงาน 1,000 กิโลแคลอรี

 

5) อาหารที่มีไขมันสูง ไม่ว่าจะเป็นจากของทอด ของผัดน้ำมัน อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ มันหมู ไขมันสัตว์ต่างๆ รวมถึงน้ำตาล ของหวาน ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นเดียวกัน

 

6) อาหารรมควัน อาหารปิ้งย่าง หรือทอดจนไหม้เกรียม แฝงไปด้วยสารก่อมะเร็งอย่างไนโตรซามีน สารกลุ่มพัยโรลัยเซต และสารกลุ่มโพลีไซคลิกอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (พีเอเอช) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่พบในเขม่าควันไฟ และไอเสียของเครื่องยนต์

 

ทั้งนี้อาจจะดูเป็นเรื่องยากหากจะหลีกเลี่ยงประเภทอาหารที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ด้วยวิถีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบของคนเมือง ทำให้ในบางครั้งก็หนีไม่พ้นจริงๆ จึงควรรับประทานผักและผลไม้เพื่อให้ได้รับวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ อย่างครบถ้วน รวมถึงสารพฤกษเคมี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยในการยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้แล้วการออกกำลังกายและนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ ก็มีส่วนช่วยในการยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งเช่นเดียวกัน ดังนั้นนอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว อย่าลืมใสใจเรื่องอื่นๆ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคมะเร็งกันด้วยนะครับ

 

ด้วยความปรารถนาดี

Interpharma Thailand