รู้จัก “เซโรโทนิน” สารเคมีแห่งอารมณ์ – ความรู้สึก และสุขภาพ - Interpharma Group

รู้จัก “เซโรโทนิน” สารเคมีแห่งอารมณ์ – ความรู้สึก และสุขภาพ

รู้จัก เซโรโทนิน สารเคมีแห่งอารมณ์ – ความรู้สึก และสุขภาพ

เคยสังเกตตัวเองกันหรือไม่ว่า บางครั้งอยู่ดี ๆ อารมณ์ก็เปลี่ยนไปโดยที่ตัวคุณเองก็ไม่รู้ตัว จนเกิดคำถามสงสัยว่าเพราะอะไรที่ทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปในแต่ละวัน คำตอบก็คือ “เซโรโทนิน” ที่อยู่ในร่างกายของทุกคน


เซโรโทนิน เป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่เชื่อมโยงการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมอารมณ์ เมื่อร่างกายมีปริมาณเซโรโทนินที่เหมาะสม สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสุขภาพที่ดี มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ แต่หากเซโรโทนินมีปริมาณที่มากหรือน้อยผิดปกติ เมื่อนั้นความผิดปกติทางอารมณ์จะเกิดขึ้น


เซโรโทนิน ควบคุมระบบการทำงานของร่างกายส่วนไหนบ้าง?

  • อารมณ์: เซโรโทนินมีความสำคัญต่อระบบสมองอย่างมาก เนื่องจากทำหน้าที่หลักในการควบคุมอารมณ์ บางครั้งจึงถูกเรียกว่าสารเคมี “รู้สึกดี” ตามธรรมชาติของร่างกาย และเมื่อเซโรโทนินทำงานตามปกติ จะทำให้รู้สึกมีความสุข สงบ มีสมาธิ และมีความมั่นคงทางอารมณ์ แต่เมื่อใดก็ตามที่เซโรโทนินมีปริมาณน้อยต่างจากปกติ มักจะทำให้มีอาการวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า รู้สึกเครียด หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี และในทางกลับกันหากเซโรโทนินมีปริมาณที่มากเกินไปอาจนำไปสู่อาการกระสับกระส่าย อาการประสาทหลอน และความสับสนได้ ทั้งนี้ เซโรโทนินมักทำงานร่วมกับสารสื่อประสาทอื่น ๆ เช่น โดปามีนเพื่อช่วยบรรเทาอารมณ์
  • การย่อยอาหาร: เซโรโทนินมีส่วนช่วยในการทำงานของลำไส้ให้เป็นปกติและลดความอยากอาหาร เพื่อช่วยให้คุณรู้เมื่อคุณอิ่ม นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการปกป้องลำไส้ หากอาหารที่ทานนั้นสร้างความระคายเคืองหรือเป็นพิษ ลำไส้ของคุณจะตอบสนองด้วยการผลิตเซโรโทนินมากขึ้น เพื่อขับอาหารที่ไม่ต้องการออกไป ทำให้ขับออกจากร่างกายเร็วขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • การนอนหลับ: เซโรโทนินคือสารตั้งต้นในการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อวงจรการนอนหลับของคุณ เมื่อรางกายมีปริมาณเซโรโทนินไม่เพียงพอ จะส่งผลให้เมลาโทนินลดลง จนส่งผลกระทบต่อมาอย่างคุณภาพการนอนหลับ เช่น อาการนอนไม่หลับ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
  • ความหนาแน่นของกระดูก: มีการศึกษาพบว่าระดับเซโรโทนินอาจส่งผลต่อความหนาแน่นของกระดูก โดยระดับเซโรโทนินที่สูงอาจสัมพันธ์กับความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะโรคกระดูกพรุนได้
  • อารมณ์ทางเพศ: ปริมาณเซโรโทนินที่ไม่สมดุลไม่เพียงส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน แต่ยังมีอิทธิพลต่อความถี่และความต้องการทางเพศอีกด้วย โดยพบว่าอาจส่งผลให้ความรู้สึกทางเพศลดลงได้


เซโรโทนินผลิตได้อย่างไร?

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าแบคทีเรียในลำไส้ช่วยสร้างเซโรโทนิน และเซโรโทนินส่วนใหญ่ในร่างกายกว่า 90% นั้นสามารถพบได้ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ การรับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใยจะช่วยให้แบคทีเรียในลำไส้ของคุณแข็งแรง มีสมดุลที่ดีของแบคทีเรียที่ “เป็นมิตร” ในลำไส้ ทำให้ระดับเซโรโทนินในร่างกายมีปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม


“เซโรโทนิน” ถือเป็นสารเคมีทางธรรมชาติที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ – ความรู้สึก และสุขภาพที่ดีของคุณ เพื่อให้ร่างกายของคุณแข็งแรงทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกาย จึงต้องให้ความสำคัญกับเซโรโทนิน ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ เพียงเสริมสมดุลแบคทีเรียให้กับลำไส้ของคุณ


ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand