อวัยวะที่ถูกลืม

มนุษย์เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยกินอยู่หลับนอนเพียงลำพัง หากแต่ว่า เราเป็น ซุปเปอร์สิ่งมีชีวิต ที่ประกอบด้วยตัวเรา และ จุลินทรีย์เล็กจิ๋วที่มีประโยชน์นับล้านๆ ตัว ทำงานสอดประสานกันเป็นระบบนิเวศเล็กๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา

เวลาพูดถึงจุลินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย  ไวรัส หรือเชื้อรา คนส่วนใหญ่มักนึกถึงว่าเป็นเชื้อโรคที่ต้องกำจัด จนกระทั่งการศึกษาเกี่ยวกับแบคทีเรียในร่างกายมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คือ The Human Microbiome Project  ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 2008

เราได้เรียนรู้ว่า จุลินทรีย์มีชีวิตที่มีประโยชน์ซึ่งอาศัยอยู่ที่ช่องปาก ลำไส้ ช่องคลอด และผิวหนัง โดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ คือกลุ่มประชากรที่หนาแน่นที่สุด มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ และซับซ้อนในแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ซึ่งความแตกต่างนี้ มีผลมหาศาลต่อสุขภาพของคนเรา

ความสำคัญของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ในร่างกายเรา อาจแบ่งได้เป็น

  • สุขภาพลำไส้ แบคทีเรียในลำไส้เป็นตัวช่วย ในกระบวนการย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร และการขับถ่ายเป็นไปได้มีประสิทธิภาพ
  • ภูมิคุ้มกันร่างกาย แบคทีเรียที่มีประโยชน์ ในลำไส้เชื่อมโยงกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ในจุดซ่อนเร้นของผู้หญิง ก็เชื่อมโยงกับระบบภูมิคุ้มกันในช่องคลอด
  • ระบบเผาผลาญในร่างกาย โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) มีความเกี่ยวโยงกับการทำงานของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ในลำไส้ โดยการลดน้ำหนักแนวใหม่ อาจพุ่งเป้าไปที่การปรับอาหารเพื่อเปลี่ยนประชากรแบคทีเรีย
  • สมอง และอารมณ์ การศึกษาใหม่ล่าสุด พบว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ในลำไส้ กับโรคของสมอง เพราะลำไส้ของคนเรา เป็นอวัยวะที่มีเซลล์ประสาทมากเป็นอันดับสอง รองจากสมอง จึงส่งผลถึงการสร้างสารสื่อประสาทต่างๆ การเพิ่มขึ้น หรือลดลงของสารสื่อประสาทบางตัว ก็สัมพันธ์กับโรคต่างๆ อย่างเช่น ซึมเศร้า หรือ ย้ำคิดย้ำทำ

จะเห็นได้ว่า แบคทีเรียในร่างกายเรานั้น ไม่ได้เป็นเพียงผู้ขออยู่อาศัย แต่ยังทำประโยชน์ต่างๆให้กับเรามากมาย ราวกับเป็นอวัยวะอีกส่วนหนึ่งในร่างกายของเรา แล้ววันนี้ คุณทำอะไรเพื่อดูแลเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขตัวจิ๋วนับล้านในร่างกายของคุณแล้วหรือยัง?

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (Twitter: @thidakarn)

แพทย์วุฒิบัตรเวชศาสตร์ชะลอวัย (สหรัฐอเมริกา)

Life Center โรงพยาบาลสมิติเวช