ข้อเสียพึงระวัง จากการอดหลับอดนอน

 การนอนหลับ เป็นการพักผ่อนร่างกายที่ดีที่สุด เนื่องจากการนอนหลับจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูร่างกายอย่างเต็มที่ กระบวนการฟื้นฟูร่างกายช่วงนอนหลับนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่ได้มีการนอนหลับที่ดี นอนหลับไม่เพียงพอ หรืออดหลับอดนอน การเช็คว่าตัวเรานอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอหรือไม่ สามารถสังเกตได้จาก 3 อาการเหล่านี้

 

  1. เมื่อตื่นมาตอนเช้า ยังไม่อยากลุกขึ้นจากเตียง อยากนอนต่ออีก รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น
  2. มีอาการง่วงหงาวหาวนอนอยู่เรื่อยๆ ในเวลากลางวัน
  3. หากมีโอกาสได้งีบตอนกลางวัน อาจหลับไปได้ภายในเวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น

 

อาการเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนเบื้องต้นว่าร่างกายเราพักผ่อนไม่เพียงพอ หากได้หลับอย่างเต็มอิ่ม อาการเหล่านี้ก็จะหายไป แต่หากอดหลับอดนอนติดต่อกันไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งแสดงอาการอื่นๆ ออกมามากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายอย่างแน่นอน ได้แก่

 

ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย โดยทั่วไป หากร่างกายเรามีพลังงานอยู่เต็ม 100% จะเกิดการนำพลังงานมาใช้จริงเพียง 70% ส่วนอีก 30% ที่เหลือจะเป็นพลังงานสำรอง ที่ร่างกายจะนำมาใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ยามป่วยไข้ไม่สบาย รวมถึงภาวะที่ร่างกายอดนอน หากเปรียบเทียบการนอนเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ การอดนอนก็คือการชาร์จแบตเตอรี่ไม่เต็ม 100% เมื่อ 70% ที่ร่างกายนำมาใช้ไม่เพียงพอ ก็จะดึงเอา 30% ที่เหลืออยู่มาใช้เรื่อยๆ เมื่อพลังงานในส่วนนี้ร่อยหรอลงไป ก็จะเกิดอาการอ่อนเพลีย และไม่สบายตามมา

 

ทำให้เกิดโรคอ้วน การที่ร่างกายตื่นอยู่เป็นเวลานานแบบอดนอน ทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญมากขึ้น เราจึงรู้สึกหิวและกินมากขึ้น เนื่องจากเกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งอาหารที่รับประทานกันในช่วงดึกๆ นั้นมักจะเป็นอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยวที่ให้พลังงานสูง ผู้ที่นอนดึกหรืออดนอนจึงมักที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินได้

 

ทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เนื่องจากโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตถูกสร้างได้น้อยลง ร่างกายจึงไม่เจริญเติบโต นอกจากนี้การนอนดึกยังส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกรบกวน จึงเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากอดนอนติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

 

ทำให้กระบวนการเรียนรู้ช้าลง การอดนอนส่งผลต่อการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ให้ทำงานผิดเพี้ยนได้ เช่นสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) กลีบสมองบริเวณขมับ (Temporal Lobe) ทำให้การเรียนรู้จากคำพูดแย่ลง การเรียนรู้ด้านภาษาช้าลง เป็นต้น

 

ทำให้เกิดอาการหลับใน เนื่องจากสมองส่วนธาลามัส (Thalamus) เกิดหยุดทำงานเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แบบชั่วคราว ทำให้เกิดอาการงีบหลับ ร่างกายไม่ตื่นตัว รับรู้ได้ช้าลง หรือไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ใดๆ ซึ่งเป็นอันตรายมากสำหรับคนที่ขับรถ หรืออยู่ระหว่างการใช้เครื่องจักรกล อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงชีวิตได้

 

ทำให้เกิดอาการทางจิต การอดนอนชนิดรุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะโรคทางจิตได้ เช่น อาการหูแว่ว ประสาทหลอน ระแวงกลัวคนมาทำร้าย มีอาการคล้ายคนที่มีภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เช่นร่าเริงกว่าปกติ หรือซึมเศร้าผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังทำให้หงุดหงิดอารมณ์เสียง่ายได้อีกด้วย

 

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ โดยควรนอนหลับให้เป็นเวลา ไม่ควรเข้านอนดึกจนเกินไป เมื่ออดนอนแล้วก็ควรหาเวลานอนชดเชยให้มากพอ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาการอดนอนก็จะดีขึ้นได้ตามลำดับ

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

Interpharma Thailand

.

ข้อมูลอ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ